กสทช.ทวงค่าใช้คลื่น900MHz ขู่ปรับวันละ2.5ล้านบาท ยื้อย้ายค่าย

By จุ่มใจ พิมพ์ทอง

"กสทช." ร่อนหนังสือทวงเงิน "เอไอเอส" ค่าใช้คลื่น 900 MHz ช่วงเยียวยาซิมดับระยะแรก เร่งให้วางเงินการันตี 20-30% ของรายได้ ย้ำความมั่นใจรัฐได้เงินเข้าคลังแน่ พร้อมสั่งให้ปรับแก้สื่อโฆษณา-ประชาสัมพันธ์ที่อ้างว่าจ่ายเงินค่าใช้คลื่นแล้ว ทั้งที่ กสทช.ยังไม่ได้รับเงิน ขู่เก็บค่าปรับวันละ 2.5 ล้านบาท ฐานยื้อลูกค้าย้ายค่ายเบอร์เดิมอีก 3 แสนเลขหมาย

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา สำนักงาน กสทช.ได้ทำหนังสือถึง บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (เอไอเอส) เพื่อให้นำส่งเงินรายได้ที่เกิดขึ้นในช่วงระยะเวลาคุ้มครองผู้ใช้บริการตามประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการเป็นการชั่วคราวในกรณีสิ้นสุดการอนุญาต สัมปทาน หรือสัญญาการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ พ.ศ. 2556 โดยต้องนำเงินรายได้ในช่วงเยียวยาช่วงแรก (1 ต.ค. 2558-14 เม.ย. 2559) ในทันทีที่ได้รับหนังสือแจ้ง เพราะถือเป็นเงินรายได้ของแผ่นดิน และตามประกาศ กสทช. กำหนดให้เอกชนต้องแยกบัญชีรายได้ในส่วนดังกล่าวแยกต่างหากอยู่แล้ว ดังนั้นการนำส่งทันทีจึงไม่น่ามีปัญหาใด ๆ ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่า เอไอเอสได้รับหนังสือแล้วเมื่อวันที่ 3 พ.ค. 2559 ที่ผ่านมา คาดว่าบริษัทจะนำเงินมาจ่ายเร็ว ๆ นี้

แหล่งข่าวระดับสูงจาก กสทช. เปิดเผยว่า ช่วงเยียวยาที่เอไอเอสต้องนำส่งรายได้ แบ่งเป็น 2 ช่วง ช่วงแรกของการเยียวยาผู้บริโภคตามประกาศ กสทช. และคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวระหว่างพิจารณาคดีของศาลปกครองกลาง นับจาก 1 ต.ค. 2558-14 เม.ย. 2559 และช่วงที่ 2 คือ ตั้งแต่ 15 เม.ย. 2559-30 มิ.ย. 2559 เป็นช่วงเยียวยาตามคำสั่ง คสช. ที่ 16/2559 เรื่องการประมูลคลื่นความถี่ในกิจการโทรคมนาคม

โดยตามประกาศมาตรการคุ้มครองผู้บริโภคฯ ฉบับที่ 2 ระบุให้บริษัทต้องนำส่งเงินรายได้จากการให้บริการและใช้คลื่นในอัตราที่ไม่น้อยกว่าร้อยละของส่วนแบ่งรายได้ที่เคยนำส่งให้เจ้าของสัมปทานณ วันสุดท้ายก่อนสิ้นสุดสัญญาสัมปทาน

"ตามสัมปทานเอไอเอส-ทีโอที ณ วันสุดท้าย ส่วนแบ่งรายได้ที่ต้องจ่ายในฝั่งพรีเพด (ลูกค้าเติมเงิน) แยกเป็น 20% กับ 26% ตามประเภทรายได้ โดยคำนวณจากราคาหน้าบัตรเติมเงิน ขณะที่ตามหลักของ กสทช. จะเรียกเก็บได้เฉพาะรายได้จากบริการโทรคมนาคม ซึ่งปัจจุบันเงินที่เติมเข้าพรีเพด บางส่วนค่ายมือถือเป็นแค่คนกลางในการนำเงินไปส่งต่อให้ผู้ให้บริการในธุรกิจอื่น เช่น ลูกค้าเติมเงินเข้ามือถือ แล้วโอนเข้าแอปพลิเคชั่น LINE เพื่อซื้อของต่อ จึงต้องมีการตรวจสอบและแยกออกมา แต่ตามประกาศ กสทช. กำหนดให้ค่ายมือถือนำเงินมาวางก่อน แล้วค่อยตรวจสอบภายหลัง สำนักงาน กสทช.จึงสรุปตัวเลขให้เอไอเอสนำจ่ายเงินรายได้จากพรีเพดในอัตรา 20% ของรายได้ที่เกิดขึ้นในช่วงเยียวยา ส่วนบริการโพสต์เพดที่ 30% ตามที่สัมปทานระบุ"

กระบวนการหลังจากที่เอไอเอสนำเงินรายได้มาวางตามอัตราที่กำหนดแล้ว จะมีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบบัญชีรายรับรายจ่ายที่เกิดขึ้นในช่วงเยียวยาอีกครั้ง เพราะตามประกาศ กสทช. เงินรายได้หักค่าใช้จ่ายตามที่จำเป็นออกแล้ว ต้องนำส่งเป็นรายได้แผ่นดิน รวมดอกผลที่เกิดขึ้นด้วย

"การเรียกให้เอไอเอสนำส่งเงิน 20% และ 30% ของรายได้ในช่วงเวลาเยียวยามาก่อนเป็นการการันตีว่ารัฐจะได้รับรายได้จากช่วงเยียวยาแน่นอน ไม่ได้หมายความว่าเอไอเอสจะได้รับรายได้ที่เหลือทั้งหมดเข้าบริษัท เพราะสัมปทานสิ้นสุดไปแล้ว ทั้งเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาการนำส่งรายได้ในช่วงเยียวยาหลังสิ้นสุดสัมปทานของทรูมูฟ-ดิจิทัลโฟนก่อนนี้ที่ขณะนี้ก็ยังไม่ได้ข้อยุติ จน กสทช.ต้องมีการอุดช่องโหว่ด้วยการออกประกาศ มาตรการคุ้มครองผู้บริโภค ฉบับที่ 2"

นอกจากนี้ สำนักงาน กสทช.ยังได้ทำหนังสือแจ้งเตือนเอไอเอส ให้แก้ไขข้อมูลที่ออกสื่อประชาสัมพันธ์ต่อสาธารณะเกี่ยวกับการชำระค่าใช้คลื่น 900 MHz ในช่วงเยียวยาลูกค้าว่า บริษัทได้มีการชำระเงินรายได้ให้ กสทช.เรียบร้อยแล้ว ทั้งที่ยังไม่ได้นำส่งเงินรายได้ดังกล่าว

และได้ทำหนังสือแจ้งไปยังเอไอเอสที่ยังฝ่าฝืนมติคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม(กทค.) เมื่อ 18 ก.พ. 2559 ที่กำหนดให้ต้องดำเนินการโอนย้ายลูกค้าที่ยื่นขอใช้บริการคงสิทธิเลขหมาย (MNP) ในทันที หากลูกค้ารายดังกล่าวไม่เข้าข่ายที่จะปฏิเสธการโอนย้ายได้ตามเงื่อนไขที่ประกาศ กสทช.ได้ระบุไว้ ได้แก่ เบอร์ที่ขอโอนย้ายได้มาโดยมิชอบด้วยกฎหมาย เบอร์อยู่ระหว่างถูกอายัด อยู่ระหว่างการระงับการให้บริการ (ค้างค่าบริการ) เป็นต้น

เรื่องดังกล่าวเป็นกรณีสืบเนื่องจากที่ "ทรูมูฟ เอช" ร้องเรียน กทค.ว่า ทั้งเอไอเอส และดีแทค ปฏิเสธไม่ยอมให้ลูกค้าที่ยื่นขอใช้สิทธิ MNP ย้ายมาใช้บริการของทรูมูฟ เอช

"หลังมติ กทค.ออกไป ดีแทคแจ้งว่า ได้โอนย้ายลูกค้าที่ขอ MNP ค้างไว้หมดแล้ว แต่เอไอเอสแจ้งว่า ยังมียอดเหลืออีก 3 แสนราย สำนักงาน กสทช.จึงทำหนังสือแจ้งกลับไปว่า ต้องเร่งโอนให้หมดภายใน 9 พ.ค. หากพ้นกำหนดแล้วยังไม่ดำเนินการ จะคิดค่าปรับวันละ 2.5 ล้านบาท ซึ่งใช้จำนวนลูกค้าที่ค้างอยู่เป็นฐานคำนวณ จากนี้ สำนักงาน กสทช.จะตรวจสอบข้อมูลของเอไอเอสและดีแทคว่าจำนวนลูกค้าเป็นไปตามที่แจ้งมาหรือไม่ด้วย"

ที่มา:

ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 12 พฤษภาคม

2559