การเกษตรอัจฉริยะ (Smart Farming)...เส้นทางบังคับที่ไทยต้องเดิน

By จุ่มใจ พิมพ์ทอง

ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาผมได้มีโอกาสพูดคุยกับพี่ๆ วปอ.57 ในกลุ่มไลน์ "กลุ่มรักเมืองไทย" โดยมีประเด็นหลักคือ "จะทำอย่างไรที่ประเทศไทยจะสามารถก้าวกระโดดไปเป็นประเทศชั้นนำของโลก?" ผมจึงมองจุดแข็งที่เรามีอย่างชัดเจน นั่นก็คือ อาหารและการเกษตร ทำให้ผมต้องไปค้นคว้าหาปัจจัยแห่งความสำเร็จของประเทศของเราในเรื่องนี้

องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO: Food and Agriculture Organization) ได้วิเคราะห์ว่า จำนวนประชากรโลกจะเพิ่มขึ้นอีกพันล้านคนจากปัจจุบันไปที่แปดพันล้านคนภายในปี 2025 และเก้าพันห้าร้อยล้านคนในปี 2050 ดังนั้นโลกจำเป็นจะต้องมีอาหารเลี้ยงประชากรที่เพิ่มขึ้นอย่างเพียงพอ ในประเด็นนี้เองจึงเป็นโอกาสของประเทศไทย ที่จะสร้างประเทศของเราให้เป็น "ครัวโลก" หากว่านโยบายการเปลี่ยนผ่านประเทศสู่ Digital country หรือ Thailand4.0 ประสบความสำเร็จ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคการเกษตร!!!

ภาคการเกษตรจึงได้รับการท้าทายเพื่อตอบสนองความต้องการที่เพิ่มขึ้นของประชากรโลก โดยการผลิตอาหารของโลกต้องเพิ่มขึ้น 70% ภายในปี 2050 ซึ่งมีข้อจำกัดในเรื่องพื้นที่เพาะปลูกไม่สามารถเพิ่มขึ้น ปริมาณน้ำจืดซึ่งขณะนี้ภาคการเกษตรใช้ไปเกือบร้อยละ 70 ของปริมาณน้ำจืดทั่วโลก สภาพภูมิอากาศที่มีความแปรปรวน ฤดูกาลที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรง ดังนั้นหากประเทศใดที่มีทรัพยากรด้านการเกษตรที่เหมาะสมอยู่แล้ว และสามารถบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพสูงสุดได้ ก็จะทำให้ประเทศนั้นสามารถก้าวกระโดดเป็นแหล่งอาหารของโลกหรือครัวโลก หรือจะพูดได้ว่าเป็น "ประเทศมหาอำนาจด้านอาหาร" ก็ว่าได้

วิธีหนึ่งที่ภาคการเกษตรจะสามารถบรรลุเป้าหมายดังกล่าวได้ จำเป็นที่จะต้องนำเอาเทคโนโลยีต่างๆ เข้ามาสร้างประสิทธิภาพภายใต้ข้อจำกัดดังกล่าว ทั่วโลกจึงมีแนวคิดในการทำการเกษตรแบบที่เรียกว่า “การเกษตรแม่นยำ (Precision Farming/Agriculture)” หรือภายหลังได้มีการเรียกว่า “การเกษตรอัจฉริยะ (Smart Farming)” เพื่อให้สอดคล้องกับกระแสสมาร์ทซิตี้ สมาร์ทคาร์ และสมาร์ทต่างๆ

อย่างไรก็ตามระบบเกษตรในยุคดิจิทัลจะไม่ได้มีเพียงแต่การเกษตรแม่นยำหรือเกษตรอัจฉริยะเท่านั้น แต่จะต้องมีการพัฒนาระบบดิจิทัลครบทั้งห่วงโซ่ให้เป็นระบบการขนส่งสินค้าเกษตรอัจฉริยะ (Smart Agri-Locgistics) เพราะสินค้าเกษตรเป็นสินค้าที่เน่าเสียได้ในระยะเวลาที่จำกัด และราคาจะมีการแปรผกผันตามความสดของสินค้า อีกทั้งทิศทางการบริโภคสินค้าเกษตรในอนาคต ผู้บริโภคจะต้องการข้อมูลถึงแหล่งที่มาของการผลิต เวลาในการเก็บเกี่ยว การหลีกเลี่ยงการใช้วิธีการทางเคมีเพื่อรักษาความสดใหม่ของสินค้าเกษตร ดังนั้นปัจจัยสำคัญเพื่อรักษาความสดใหม่จากแปลงปลูกไปสู่จานผู้บริโภค จะขึ้นอยู่กับการขนส่งสินค้าเกษตรที่ต้องมีความพอดีในการนำส่งสินค้าไปยังตลาดที่ต้องการในเวลาที่กำหนด

สิ่งที่สำคัญอีกประการคือ การนำเทคโนโลยีมาใช้ในระบบความปลอดภัยของอาหาร โดยการสร้างเครือข่ายอัจฉริยะเตือนภัยความปลอดภัยของอาหาร (Smart Food Safety Awareness) เพราะผู้บริโภคมีความต้องการที่จะรู้ข้อมูลของอาหารที่ตนบริโภค การรู้ถึงข้อมูลแหล่งกำเนิดหรือแม้แต่รู้ว่าผู้ใดเป็นเกษตรกรผู้ผลิตวัตถุดิบในการทำอาหาร รวมทั้งการขนส่งจนมาถึงจานของผู้บริโภค เป็นสิ่งที่ผู้บริโภคต้องการ ซึ่งผู้บริโภคทั่วโลกในปัจจุบันเริ่มที่จะมีความตระหนักถึงการบริโภคที่จะไม่ทำร้ายตนเองมากขึ้น ดังนั้นจึงทำให้การนำเทคโนโลยีดิจิทัลเช่นอินเตอร์เน็ตที่มีความสามารถในการกระจายข้อมูลที่ครอบคลุมรายละเอียดของอาหารมากขึ้น และสามารถเข้าถึงประชาชนได้มากขึ้น ด้วยค่าใช้จ่ายที่น้อยมาก จะสามารถนำมาสร้างเครือข่ายอัจฉริยะเตือนภัยความปลอดภัยของอาหารได้ไม่ยากนัก

การเกษตรอัจฉริยะมีเป้าหมายเพื่อสร้างประสิทธิภาพมากที่สุดต่อหนึ่งหน่วยพื้นที่การทำการเกษตร โดยการใช้แนวทางที่ทันสมัยที่สุดคือแนวทางการทำการเกษตรอย่างยั่งยืนต่อเนื่องโดยสามารถตอบสนองได้ทั้งในแง่คุณภาพและปริมาณ รวมทั้งผลตอบแทนทางการเงิน การเกษตรอัจฉริยะจะมีการใช้เทคโนโลยีที่หลากหลาย เช่น GPS service, Sensor Technology, Big Data Analytic เพื่อสร้างประสิทธิภาพในการผลิตและเป็นกระบวนการใช้เทคโนโลยี ICT เพื่อช่วยเข้ามาสร้างระบบการตัดสินใจ (Decision Support Systems) เพื่อทดแทนการใช้การคาดเดาของเกษตรกร โดยข้อมูลที่จะนำมาใช้ในการตัดสินใจจะมีรายละเอียดและแง่มุมต่างๆ จำนวนมาก

ดังนั้น สำหรับเกษตรกรในอนาคต นอกเหนือจากความรู้ทางด้านการเกษตรแล้ว ยังจำเป็นที่ต้องมีความรู้ในเทคโนโลยีหุ่นยนต์, รูปถ่ายทางอากาศและดาวเทียม (computer-based image sensing), GPS, พยากรณ์อากาศ, Big Data Analytic เพื่อช่วยในการตัดสินใจ โดยในการใช้งานเทคโนโลยีเหล่านี้ในการเกษตร จะก่อให้เกิดห่วงโซ่ใหม่ขึ้นในการทำการเกษตร ซึ่งทางรัฐบาลสามารถสร้างเป็น "กลุ่มเกษตรกรอัจฉริยะประจำหมู่บ้าน" โดยใช้โครงข่ายอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงที่กำลังดำเนินการโครงการโดยกระทรวง ICT และเทคโนโลยีบรอดแบนด์ 4G มาเป็นโครงสร้างพื้นฐานได้

ในส่วนของแอปพลิเคชั่นที่นำมาใช้ในระบบการเกษตรอัจฉริยะ มีอยู่ด้วยกัน 7 อย่างด้วยกันคือ (1) การนำไปใช้ในเรื่องการจัดการเครื่องมือเครื่องจักรกลการเกษตรเพื่อใช้ติดตามอุปกรณ์เหล่านี้ (2) การจัดการพื้นที่เพาะปลูกที่เหมาะสม ทั้งแบบขนาดเล็กและขนาดใหญ่ (3) การตรวจสอบติดตามปศุสัตว์ (4) การทำเกษตรกรรมในที่ร่ม เช่น การเกษตรเรือนกระจก (Greenhouse) (5) การประมง (6) การปลูกป่า และ (7) การตรวจสอบติดตามการเก็บรักษาผลิตผลการเกษตร

การเกษตรอัจฉริยะจะมีความต้องการใช้ความเชี่ยวชาญในหลากหลายสาขา ดังนั้นจะมีผู้ให้บริการชนิดต่างๆในระบบนิเวศนี้ ซึ่งจะเป็นการสร้างงานให้แก่ทุกๆอุตสาหกรรมของประเทศ โดยสามารถแบ่งกลุ่มได้ดังนี้

(1) ผู้ให้บริการเทคโนโลยี (Technology Provider) จะประกอบด้วยผู้ให้บริการเครือข่ายสื่อสารไร้สาย ผู้ให้บริการเซนเซอร์ หรือ M2M, ผู้ให้บริการ DSS, ผู้ให้บริการ Big Data Analytic, Geo mapping App., Mobile App

(2) ผู้ให้บริการเครื่องมือเครื่องจักรกลการเกษตรอัจฉริยะ ได้แก่ หุ่นยนต์ทางการเกษตร จักรกลการเกษตรที่เชื่อมต่อกับระบบสื่อสาร

(3) เกษตรกรหรือกลุ่มเกษตรกรผู้เพาะปลูก

(4) ผู้กำหนดทิศทางของตลาด ที่มีอิทธิพลต่อการกำหนดราคาในสินค้าการเกษตรแต่ละชนิดในแต่ละช่วงเวลา

การทำการเกษตรอัจฉริยะนั้น เรื่องข้อมูลจะเป็นปัจจัยพื้นฐานทั้งในเรื่องการตรวจสอบคุณสมบัติดินผ่านเซนเซอร์หรือภาพถ่ายดาวเทียม สภาพภูมิอากาศ การพยากรณ์สภาพตลาด การระบาดของโรคพืช ปริมาณน้ำจืดที่จะทำการเกษตร ข้อมูลเหล่านี้ต้องมีความถูกต้องแม่นยำด้วยจึงสามารถสร้างระบบการเกษตรอัจฉริยะได้ประสบผลสำเร็จ

ดังนั้นโครงสร้างพื้นฐานอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงที่สามารถเข้าถึงทุกหมู่บ้านของประเทศไทย จึงเป็นปัจจัยแห่งความสำเร็จปัจจัยหนึ่งที่จะขับเคลื่อน "การเกษตรอัจฉริยะ" ของประเทศไทย ที่จะทำให้ประเทศไทยที่รักยิ่งของเรายืนอยู่บนตำแหน่ง "ประเทศมหาอำนาจด้านอาหาร" ต่อไปในอนาคตได้อย่างแน่นอน!!!...ฟันธง!!!

12 กันยายน 2559

ที่มา: www.เศรษฐพงค์.com วันที่ 12 กันยายน 2559