สนช.ผ่านวาระแรก กม.ปฏิรูป กสทช. ลดบอร์ดเหลือ 7 รื้อวิธีการใช้จ่ายเงิน

By จุ่มใจ พิมพ์ทอง

สนช. รับหลักการร่างพ.ร.บ.ปฏิรูป กสทช. ลดจำนวนบอร์ด เหลือ 7 คน พร้อมรื้อระบบการใช้เงิน เปิดทางกระทรวงการคลัง และ สนช.คุมเข้ใม

ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาร่างพ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม ตามที่คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ โดยมีสาระสำคัญ คือ เปลี่ยนแปลงจำนวนคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จาก 11 คนเหลือเพียง 7 คน โดยเป็นผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ กิจการโทรคมนาคม ด้านวิศวกรรม กฎหมาย เศรษฐศาสตร์ การคุ้มครองผู้บริโภค และกำหนดคุณสมบัติทั่วไปของ กสทช.เพิ่มเติมจากเดิม อาทิ ต้องมีอายุระหว่าง 45-65ปี เป็นหรือเคยเป็นข้าราชการพลเรือน พนักงานในหน่วยงานอื่นของรัฐหรือรัฐวิสาหกิจที่ดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าหัวหน้าส่วนราชการตั้งแต่ระดับกรมขึ้นไป หรือดำรงตำแหน่งหรือเคยดำรงตำแหน่งรองศาสตราจารย์ขึ้นไปมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี หรือเป็นหรือเคยเป็นนายทหารหรือนายตำรวจที่มียศตั้งแต่พล.ท. พล.อ.ท. พล.ร.ท.หรือพล.ต.ท.ขึ้นไป หรือ เป็นหรือเคยผู้บริหารมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 ปีในตำแหน่งไม่ต่ำกว่ารองกรรมการผู้จัดการใหญ่ในบริษัทมหาชนจำกัดที่มีทุนจดทะเบียนไม่น้อยกว่า 1,000ล้านบาท หรือ มีประสบการณ์ทำงานด้านการคุ้มครองผู้บริโภคมาแล้วไม่น้อยกว่า 10 ปี

การสรรหา กสทช.กำหนดให้มีคณะกรรมการสรรหา 7 คน ประกอบด้วย 1.ประธานศาลรัฐธรรมนูญ 2.ประธานศาลฎีกา 3.ประธานศาลปกครองสูงสุด 4.ประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ 5.ประธานกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน 6.ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน และ 7.ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย โดยคณะกรรมการสรรหาต้องพิจารณาคัดเลือกผู้สมัครที่คุณสมบัติเป็น กสทช.ให้ได้จำนวนสองเท่าของจำนวน กสทช. จากนั้นส่งให้วุฒิสภาลงมติคัดเลือกให้เสร็จสิ้นภายใน30วันต่อไป

ด้านอำนาจหน้าที่ของ กสทช.นั้นได้มีการเพิ่มเติม คือ ให้จัดทำแผนแม่บทการบริหารคลื่นความถี่ ตารางกำหนดคลื่นความถี่แห่งชาติ แผ่นแม่บทกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ แผนแม่บทกิจการโทรคมนาคาม แผนความถี่วิทยุและแผนเลขหมายโทรคมนาคม แต่แผนดังกล่าวต้องสอดคล้องกับนโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม

ขณะเดียวกัน ในร่างพ.ร.บ.ดังกล่าววางหลักเกณฑ์การใช้งบประมาณของกสทช.ให้เกิดความโปร่งใส เช่น การให้เงินรายได้ที่จากการจัดสรรคลื่นความถี่ที่ได้รับจากการจัดสรรคลื่นความถี่ภายหลังหักค่าใช้ในการจัดสรรคลี่นความถี่เป็นเงิน "กองทุนวิจัยพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ" นอกจากนี้ ให้กระทรวงการคลังมีหน้าที่ให้ความเห็นว่าหากเงินกองทุนมีเกินความจำเป็นหรือความจำเป็นต้องใช้ จะขอให้นำส่วนที่เกินจำเป็นส่งเข้าเป็นรายได้แผ่นดินก็ได้

ทั้งนี้ การเก็บรักษา การนำเงินกองทุนฯไปลงทุน การใช้จ่าย การจัดทำบัญชี และระบบบัญชี ให้เป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการบริหารกองทุนกำหนด แต่การนำเงินของกองทุนฯไปลงทุนต้องคำนึงถึงความเสี่ยงด้วย ส่วนการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีของกสทช.ต้องจัดทำโดยคำนึงถึงความคุ้มค่า การประหยัด และประสิทธิภาพ รายการหรือโครงการใดที่ตั้งงบประมาณไว้แล้วแต่มิได้เริ่มดำเนินการภายใน 9 เดือนนับแต่วันใช้งบประมาณนั้น ให้รายการหรือโครงการนั้นเป็นอันพับไป รวมทั้งยังให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินเข้ามาทำหน้าที่ตรวจสอบการใช้งบประมาณของกสทช. โดยหากพบว่าการใช้จ่ายเงินและทรัพย์สินของสำนักงานกสทช.ไม่เกิดประสิทธิพลหรือเป็นการฟุ่มเฟือยเกินสมควร ให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินแจ้งให้กสทช.ทราบโดยเร็วและให้กสทช.ดำเนินการปรับปรุงแก้ไขหรือระงับการดำเนินการตามควรแก่กรณีโดยเร็ว

โดยประชุมได้มีมติเอกฉันท์ 162 คะแนนรับหลักการในวาระที่ 1 พร้อมตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาในรายละเอียดจำนวน 17 คน มีกำหนดระยะเวลาทำงานและส่งร่างพ.ร.บ.กลับมาให้สนช.ลงมติภายใน 60 วัน ต่อไป

ที่มา:

มติชนออนไลน์ วันที่ 30 มิถุนายน 2559